MOC – Imperial Inspection   Leave a comment


Set Name : Imperial Inspection
Year : 2011 January
Pieces : 12,000 approximately
Figures : 538

หลังจาก THAI LEGO City Project เมื่อวันเด็กปีที่แล้วผ่านพ้นไปได้ 6 เดือน พวกเรา T-LUG ก็ได้ข้อสรุปว่า Project ต่อไปจะเป็น Star Wars โดยจะจำลองเป็นฉากต่างๆ ที่พวกเราอยากเห็นและอยากทำ โดยระดมความคิดกันมาว่าน่าจะเป็นฉากไหนบ้าง ซึ่งก็ได้ข้อสรุปเบื้องต้นออกมาว่า จะมีฉาก Battle of Hoth, Battle of Endor, Pod Racing, Imperial Inspection, Battle of Yavin (ลุคขับ X-Wing เข้าไปทำลาย Death Star), Battle of Christophsis (ฉากเปิดเรื่องของ The Clone Wars ฉบับโรงภาพยนต์), Battle of Coruscant (ฉากเปิดเรื่องของ Revenge Of The Sith), ดาว Tatooine, ปลายักษ์ Opee & Gungan Sub, R2-D2 ขนาด 1:1, Venator Class ขนาด 2-3 เมตร หลังจากกลั่นกรองถึงกำลังคน ทรัพยากรต่างๆ ที่แต่ละคนมี บวกกับความเป็นไปได้ที่จะทำได้เสร็จทันเวลา พวกเราก็สรุปมาว่าจะมีฉากดังนี้ คือ Battle of Hoth, Battle of Endor, Pod Racing, Imperial Inspection, Battle of Geonosis, Battle of Coruscant (ฉากเปิดเรื่องของ Revenge Of The Sith), ดาว Tatooine, ปลายักษ์ Opee & Gungan Sub, R2-D2 ขนาด 1:1 และหุ่น Minifig สูงประมาณ 1 ฟุตอีก 4-5 ตัว

บรรดาฉากที่พวกเราเลือกมานี้ มีฉากใหญ่ที่สุดคือ Battle of Hoth รองลงมาก็เป็น Pod Racing ส่วนตัวผมขอทำฉากขนาดปานกลางซึ่งก็คือฉาก Imperial Inspection โดยมีขนาดที่กำหนดไว้ตอนแรกคือ 2.0 x 2.0 เมตร ซึ่งเมื่อมาลองคิดคำนวณ และวาง Lay Out ดูแล้ว ขนาด 2.0 x 2.0 เมตร หรือ ถ้าเทียบเป็นแผ่น Plate เทาใหญ่ของ Lego (48×48 ปุ่ม) ก็จะประมาณเท่ากับ 5.25 x 5.25 Plate ซึ่งถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใหญ่มาก ผมลองเอา Plate เทาใหญ่วางเรียงบนพื้นห้อง โดยวางลงไป 5 x 5 Plate และลองเอายานต่างๆ ที่คิดว่าควรจะมีในฉากนี้ ไม่ว่าจะเป็น Imperial Shuttle, TIE Fighter, TIE Bomber, TIE Advanced มาลองวางลงไปดู และจัดแถว Stormtrooper เท่าที่พอเกณฑ์มาได้ลงไปด้วย ปรากฏว่า เหลือพื้นที่อีกเพียบที่ไม่รู้จะเอาอะไรใส่ลงไปดี จึงลองลดขนาดลงเหลือ 4 x 4 Plate เทา และเอายานต่างๆ ข้างต้นพร้อมกับเหล่า Stormtrooper ลองวางลงไปใหม่ คราวนี้ กลับจัดวางได้ค่อนข้างพอดี ซึ่งทำให้ผมได้ข้อสรุปว่า ขนาด 4 x 4 Plate เทาใหญ่ หรือประมาณ 1.5 x 1.5 เมตร น่าจะเป็นขนาดที่เหมาะสมสำหรับฉากนี้ และผมก็ได้แจ้งกับหัวหน้า Project คืออาจารย์พิจารณ์ขอลดขนาดของฉากนี้ลงเหลือ 1.5 x 1.5 เมตร

สาเหตุที่ผมเลือกทำฉาก Imperial Inspection นี้ก็เพราะว่า ผมอยากทำฉากที่มี Minifig เยอะๆ และโดยที่ผมเป็นคนที่ชอบ Lego Star Wars มาก ถ้าจะมี Stormtrooper เยอะๆ มาเข้าฉาก ก็ต้องมีแต่ฉากนี้เท่านั้น และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ ปีที่แล้วในงาน THAI LEGO City Project ที่ผมได้ทำ Movie Studio และจำลองฉากตรวจพลนี้ลงไปในอาคาร แต่ไม่สามารถใส่จำนวน Stormtrooper ได้มากเท่าที่ใจต้องการ เนื่องจากถูกจำกัดด้วยขนาดของตัวอาคาร ครั้งนี้จึงเหมือนเป็นการแก้ตัวใหม่ และเพื่อความสะใจของผมเอง

หลังจากที่ผมได้ข้อสรุปถึงขนาดที่จะทำแล้ว ผมก็ได้ลองจินตนาการถึงภาพที่ผมอยากจะเห็น และลองคำนวณดูถึงจำนวนยานและ Minifig ที่ต้องใช้ สรุปโดยคร่าวๆ ก็คือ ผมจะแบ่งพื้นที่จากปากทางเข้าลานจอดยานออกเป็น 2 ข้าง ข้างหนึ่งจะเป็นแถวทหาร Stormtrooper และ Scout Trooper มาคอยรับจักรพรรดิพัลพาทีน เอาแบบจำนวนเยอะๆ สุดๆ ไปเลย มี Stormtrooper ซัก 500 ตัว และ Scout Trooper อีกซัก 300 ตัว ส่วนอีกข้างก็เป็น TIE Hangar หรืออู่จอดยาน TIE มียาน TIE จอดอยู่ซักประมาณ 12 ลำ มีทหาร Death Star Trooper ซัก 100 ตัว มีนายทหารรวมกับนักบินอีกซักประมาณ 100 ตัว ซึ่งผมก็ได้ลองต่อแบบจำลองแแบบง่ายๆ ตามมโนภาพที่คิดไว้ในใจเหมือนกับเป็นแบบร่างขั้นต้น (Preliminary Draft) ให้กับหัวหน้า Project และเพื่อนๆ ในกลุ่มได้ติชมกัน


แบบจำลองคร่าวๆ ก่อนลงมือทำจริง เห็น TIE Hangar อยู่เบื้องหลัง


จำลองการวางแถวทหาร Stormtrooper และ Imperial Trooper แบบคร่าวๆ

หลายคนอาจจะเคยดูฉาก Imperial Inspection นี้ในหนัง Star Wars : Episode VI – Return Of The Jedi หรืออาจจะเคยเห็นฉากนี้ที่ Builder ชาวต่างประเทศเคยทำมาก่อน อาจจะมีคำถามหรือข้อสงสัยว่า เอ! ฉากนี้ไม่มียาน TIE Fighter นี่นา หรือ ฉากนี้ไม่เห็นอู่จอดยาน TIE Fighter หรือ TIE Hangar ไม่ใช่หรือ คำตอบคือ ถูกครับ จริงๆ แล้ว ฉากนี้ในหนังจะไม่เห็นยาน TIE Fighter หรืออู่จอดยาน TIE Fighter แต่อย่างใด แต่ที่ผมทำให้เห็นอู่จอดยาน TIE Fighter ด้วยก็เพราะ ผมเคยนึกสงสัยว่า ยาน TIE Figher นี่มันจอดในอู่จอดยังไง มันจะจอดโดยเอาปีกวางอยู่บนพื้นเฉยๆ เลยหรือ แต่พอมารู้ว่ามันต้องมีคานพร้อมโครง Truss ที่แขวนลงมาจากเพดานเป็นเหมือนราวคอยจับยานเอาไว้ ก็เลยเกิดอาการอยากทำอู่จอดยาน TIE Fighter ขึ้นมาด้วย และอีกเหตุผลนึงก็คือ ไม่อยากทำให้เหมือนกับที่เคยมีคนทำมาแล้ว ที่มีเพียงยาน Imperial Shuttle กับเหล่า Minifig มาวางเรียงกันเฉยๆ ครับ

ก่อนที่ผมจะได้เริ่มลงมือต่อจริง ก็มีเหตุการณ์บางอย่างที่ทำให้ผมต้องเปลี่ยนแบบอีกครั้ง นั่นก็คือ มีการจัดงาน LEGO and the Magical World of Harry Potter ขึ้น และผมได้ทราบว่า ตู้โชว์ตู้หนึ่งพร้อมที่ครอบ Acrylic ซึ่งมีขนาด 1.5 x 1.5 เมตร ที่ใช้โชว์ฉากแข่งขันไตรภาคีด่านแรกและด่านที่สามในขณะนั้น จะเป็นตู้ที่ใช้สำหรับโชว์ฉาก Imperial Inspection ของผมในงาน Star Wars Saga ครั้งถัดไป เมื่องาน LEGO and the Magical World of Harry Potter จบ ผมได้วัดขนาดกว้าง x ยาว x สูง ของตู้โชว์ดังกล่าวโดยละเอียด เพราะกลัวว่าความสูงของตู้จะไม่พอ แต่กลับกลายเป็นว่า ความสูงของตู้กลับพอดีอย่างฉิวเฉียด แต่ความกว้างและยาว เมื่อหักความหนาของขอบฐานไม้และขอบ Acrylic ออกแล้วกลับน้อยกว่า 1.528 เมตร หรือ ความยาวของ 4 Plate เทาใหญ่ไปเพียงนิดเดียว ซึ่งนั่นหมายความว่า ผมจะต้องลดขนาดของฉากลงเหลือเพียง 3 x 3 Plate เทาใหญ่ หรือ ยืนยันที่จะทำฉากในขนาด 4 x 4 Plate เทาใหญ่เท่าเดิมแล้วให้เค้าไปทำตู้ใบใหม่ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมมาแทน ซึ่งในที่สุด ผมก็ได้ตัดสินใจลดขนาดของฉากลงมาเหลือเพียง 3 x 3 Plate เทาใหญ่ (ทุกวันนี้ยังข้องใจอยู่ว่า ถ้าทำขนาด 4 x 4 plate เทาใหญ่ออกมาจริง มันจะดูอลังการขนาดไหน?)


ภาพถ่ายจากด้านบน เมื่อตอนใกล้เสร็จ (ก่อนปู Tile สีดำและสีเทาเข้ม)


ตำแหน่งของ Minifig ทั้งหมดจะต้อง fix ตำแหน่งที่แน่นอนก่อนการปู Tile


แถวทหาร Stormtrooper พร้อมถือปืน E-11 Blaster Rifle

ผมเริ่มลงมือทำโดยเริ่มจากต่อเสาและกำแพงตามแบบที่คิดไว้ โดยพยายามประกอบเป็นส่วนๆ และคิดวิธีที่จะนำทั้งหมดมาเชื่อมโยงกันภายหลัง เพื่อประโยชน์ในการขนย้าย (มีบทเรียนจากงานปีที่แล้วมาแล้ว) จากนั้นก็กำหนดว่าจะทำ TIE Hangar หรือที่จอดยาน TIE ขนาดเท่าไหร่ วางไว้ตรงไหนบ้าง ผมได้เปลี่ยนจากการแขวนคานจากเพดานมาเป็นการยกเสาขึ้นไปรับคานแทน เพราะไม่มีเพดานให้แขวน 🙂 เมื่อฝั่งจอดยาน TIE ลงตัว มาถึงฝั่งแถวทหาร ด้วยขนาดพื้นที่ที่ลดลงอย่างมาก ผมได้ตัด Scout Trooper ออกทั้งหมด เหลือ Stormtrooper เพียงอย่างเดียว กำหนดว่าจะมีทั้งหมดกี่แถวกี่ตอน ยืนตรงตำแหน่งไหนบ้าง ต่อมาก็เป็นการกำหนดตำแหน่งให้กับ Imperial Shuttle, Imperial Palpatine, Darth Vader และ Imperial Guard ส่วนขั้นตอนท้ายสุดก็คือการปู Tile สีดำและสีเทาเข้ม (Dark Bluish Grey) ให้เต็มทุกพื้นที่ที่มี


ภาพถ่ายจากด้านบน แสดงตำแหน่งที่แน่นอนของยาน Imperial Shuttle, Emperor Palpatine, Darth Vader แถว Imperial Guard


ภาพถ่ายจากด้านอู่จอดยาน TIE เห็นแถวทหาร Stormtrooper ที่อยู่ฝั่งตรงกันข้าม


แถวของ Imperial Guard ที่คอยคุ้มกันให้กับจักรพรรดิ


Emperor Palpatine เดินนำหน้า โดยมี Darth Vader เดินตาม

ตัวฉากทั้งหมดเมื่อประกอบเสร็จเรียบร้อย จะมีขนาดกว้าง x ยาว x สูง เท่ากับ 117 x 125 x 42 เซนติเมตร brick ส่วนใหญ่ที่ใช้ทำเป็นสีเทาเข้ม (Dark Bluish Grey) จำลองออกมาให้ดูเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอู่จอดยานขนาดใหญ่อู่หนึ่งของ Death Star II มีผนังล้อมรอบ 3 ด้าน ตรงกลางพื้นที่เป็นลานจอดยานขนาดใหญ่ ยานพาหนะที่นำมาเข้าฉากได้แก่ Imperial Shuttle จากชุด 7264 Imperial Inspection, TIE Advanced จากชุด 7150 TIE Fighter & Y-wing, TIE Bomber จากชุด 4479 TIE Bomber และ TIE Fighter 6 ลำ โดย 2 ลำมาจากชุด 7146 TIE Fighter 2 ชุด, 2 ลำจากชุด 7263 TIE Fighter 2 ชุด, และอีก 2 ลำจาก ชุด 10131 TIE Collection ใช้ Minifig ทั้งหมด ดังนี้ Emperor Palpatine, Darth Vader, 12 Imperial Guard, 22 Imperial Officer, 73 Imperial Trooper (Grey Suit), 99 Imperial Trooper (Black Suit), 330 Stormtrooper รวมเวลาที่ใช้ในการต่อทั้งหมด 20 วันทำงาน (คิดเป็นเวลาจริง 76 ชั่วโมง)


ตั้งแสดงในตู้พร้อมที่ครอบ Acrylic ขนาด 1.5 x 1.5 เมตร


มีไฟกระพริบสีฟ้าที่ผนังทั้งสองด้าน

ณ วันนี้ งาน Star Wars Saga ได้ผ่านพ้นไปแล้ว และถือได้ว่าประสพความสำเร็จเป็นอย่างดี (ชุด Star Wars ของปี 2011 เกิดอาการขายดีจนมีของไม่พอขาย) ทุกฉากทุกชิ้นงานที่พวกเราชาว T-LUG ได้ทำขึ้นมา ถือได้ว่าเป็น Highlight ทั้งสิ้น ผมดีใจมากที่ได้มีส่วนร่วมในการทำงานครั้งนี้ และทุกวันนี้ผมยังรู้สึกดีทุกครั้งที่คิดถึงช่วงเวลาที่ต่องานชิ้นนี้ เพราะในช่วงเวลานั้นผมได้มองดูกองทัพอันเกรียงไกรของจักรวรรดิทุกวันด้วยความเป็นปลื้มแบบสุดๆ จนอยากจะเก็บมันเอาไว้เชยชมที่บ้านคนเดียว และแอบหวังไว้ว่า ซักวันผมจะมีกองทัพขนาดนี้เก็บไว้เชยชมที่บ้านจริงๆ

Posted 17 กุมภาพันธ์ 2011 by goongtomyum in My Own Creation

ใส่ความเห็น